ในสมัยโบราณมนุษย์เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก็รู้ว่าวันใหม่เริ่มขึ้นแล้ว และการบอกเวลาว่าเป็นเช้า สาย บ่าย หรือเย็นก็อาจดูจากความยาวของเงาที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดแนวคิดในการกำหนดเวลา 1 วัน ว่าเป็นเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเองครบ 1 รอบพอดี เมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้ทางดาราศาสตร์มากขึ้น จึงมีแนวคิดในการกำหนดเวลา 1 ปีทางสุริยคติ ว่าเป็นเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบพอดี ต่อมานักดาราศาสตร์ได้พบว่า เวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบเป็นเวลามากกว่า 365 วันเล็กน้อย ระบบปฏิทินในสมัยแรกๆที่นิยมใช้กันได้แก่ระบบปฏิทินจูเลียน ระบบนี้จึงกำหนดว่า 1 ปีมี 365.25 วัน เมื่อใช้ไปได้ระยะหนึ่ง พบว่า การใช้ปฏิทินนี้ในทุกๆ 400 ปี จะนับวันมากเกินความจริงไป 3 วันเศษ หลังจากนั้นจึงได้มีการปรับปรุงเป็นระบบปฏิทินแกรกอเรียน ใน ค.ศ. 1582 ซึ่งเป็นระบบปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันและมีความเคลื่อนจากความจริงทางดาราศาสตร์น้อยที่สุด
ระบบปฏิทินแกรกอเรียน กำหนดให้ 1 ปี มี 365.2425 วัน โดยกำหนดเงื่อนไขว่าในปีปกตินั้น 1 ปีมี 365 วัน แต่ในปีอธิกสุรทิน ซึ่งเป็นปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันนั้น 1 ปี มี 366 วัน
ในการกำหนดเวลา มีข้อตกลงว่า 1 วัน มี 24 ชั่วโมง 1 ชั่วโมง มี 60 นาที และ 1 นาทีมี 60 วินาที ในชีวิตประจำวันของนักเรียน การตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่ง เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจตรงกันว่าเป็นเวลาใด ในการที่จะรู้ว่าเป็นเวลาใดนั้น นอกจากจะดูจากนาฬิกาโดยตรงแล้ว บางครั้งก็อาจต้องมีการคำนวณเวลามาเกี่ยวข้องด้วย ดังตัวอย่าง